Top

ข่าวประชาสัมพันธ์

การป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า

31 มีนาคม 2565
ผู้ประกาศ : สำนักปลัด
อ่าน : 614

../uploads/474166450.jpg

โรคพิษสุนัขบ้า.....ปัญหาที่ทุกคนต้องตระหนัก  

     การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญที่สุด คือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัขซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลักคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข

     โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงป่วยแล้วตายทุกรายทั้งในคนและสัตว์ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นภัยร้ายใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข แมว คนที่อยู่ในบ้านและเพื่อนบ้าน โดยผู้เลี้ยงสุนัขแมวส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเลี้ยงสุนัขแมวอยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะเลี้ยงดูอย่างดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะจากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าพบว่าถูกสุนัขหรือแมวที่ไม่ได้รับวัคซีนกัด รวมถึงผู้ถูกกัดก็ไม่ได้ไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน เช่น สุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลใส่ยากักหมาและรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกสัตว์กัด

1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น

2. จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ

3. ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยักและยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลินซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูงสามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูงหากไปรับการฉีดตามแพทย์นัดทุกครั้ง

จะป้องกันพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร

   เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้

1. ควบคุมไม่ให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

  • พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี
  • ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ

3. ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฎิบัติตามคำแนะนำข้างต้น

4. พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงวัคซีน การตรวจทางน้ำเหลือง รวมถึงการมารับวัคซีนกระตุ้นตามนัดทำได้ยากลำบาก หรืออาศัยอยู่บนพื้นที่ที่มีแหล่งรังของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ป่า รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมวเป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า และเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง

ที่มา: โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

เอกสารแนบ :
      ../uploads/474166450.jpg
      ../uploads/792853904.jpg
      ../uploads/1898333734.pdf
      
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
เบอร์โทร/ แฟกซ์: 0-5377-8249
เบอร์โทร : 0-5377-8249
ที่อยู่ไปรษณีย์
222 หมู่ที่ 3 ตำบล โป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว เชียงราย 57000
ช่องทางติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์
Email : pongphrae2556@gmail.com
FB : องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย