Top

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว

อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยส้านพลับพลา
อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยส้านพลับพลา

อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยส้านพลับพลา

สถานที่ท่องเที่ยว

อ่างเก็บน้ำห้วยส้านพลับพลา เป็นอ่างเก็บน้ำสาธารณะของหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งตั้งเป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร โดยประชาชนสามารถไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และตกปลาได้  อีกทั้งถนนเส้นนี้ยังใช้เป็นเส้นทางไปดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 

 

พิพิธภัณฑ์หอพลับพลา
พิพิธภัณฑ์หอพลับพลา

พิพิธภัณฑ์หอพลับพลา

สถานที่ท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑ์หอพลับพลา

        จากการที่ทางโรงเรียนร่วมกับชุมชนหน่วยงาน องค์กรในท้องถิ่นได้ร่วมกันก่อตั้ง หอพลับพลา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของะระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระกรุณาธิคุณของพระราชชายาดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทั้ง 2 พระองค์เคยเสด็จมาประทับแรม ณ พลับพลา บริเวณโรงเรียน ในปัจจุบัน เมื่อ 80 กว่าปีและ 100 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนได้บริหารจัดการ หอพลับพลา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โครงการพระราชดำริ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนการศึกษาเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงราย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี  ภูมิปัญญา ของคนในชุมชน และชนเผ่าที่อยู่ในเขตละนอกเขตบริการของโรงเรียน นั้น

         การบริหารจัดการ หอพลับพลา ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมีการประชุมกรรมการสถานศึกษา,กรรมการที่ปรึกษาของโรงเรียน ในเดือนมีนาคม และเดือนมิถุนายน 2555 มีมติให้โรงเรียน ประสานงานกับผู้นำชุมชน หน่วยงาน องค์กรในท้องถิ่น ประชากรในเขตบริการของโรงเรียน ช่วยกันรวบรวมของเก่า หรือวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำมาเก็บไว้ที่ หอพลับพลา สำหรับจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่บุคลากรโรงเรียน ชุมชน และ บุคคลทั่วไป ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนในอดีตตลอดจนให้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุง หอพลับพลา ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์หอพลับพลา”

 

 

พระธาตุดอยจ้องสลับแสง
พระธาตุดอยจ้องสลับแสง

พระธาตุดอยจ้องสลับแสง

สถานที่ท่องเที่ยว

          วัดดอยจ้องสลับแสง  ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยส้านพลับพลา หมู่ที่ 5 ตำบลโป่งแพร่  อำเภอแม่ลาว  จังหวัดเชียงราย ก่อนที่จะมีการก่อสร้างพระธาตุดอยจ้องขึ้น แต่เดิมดอยแห่งนี้มีต้นไม้ประดู่ขนาดใหญ่  ขนาด 3 คนโอบ    แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มสวยงาม (ลักษณะ คล้ายกับร่มที่ถูกกางออก ซึ่ง จ้อง ภาษาเหนือ คือ ร่ม)  ดอยจ้อง ความหมายก็คือ ดอยร่ม ซึ่งมีที่มาจากต้น ไม้ประดู่นั่นเอง

          ณ  ที่ต้นไม้ประดู่แห่งนี้ พอถึงวันพระ ข้างขึ้นจะปรากฏ ดวงแก้วดวงใหญ่ ส่องรัศมีปกคลุมต้นประดู่

คล้ายกับร่มที่ถูกกางออก พอถึงวันพระข้างแรม 15 ค่ำ ดวงแก้วก็ส่องรัศมีคลุมต้นประดู่ ซึ่งสีของดวงแก้วจะสลับสีแตกต่างกันออกไป (การปรากฏของดวงแก้ว แล้วแต่บุญญาบารมีของผู้คนที่จะได้พบเห็น)

          พระธาตุดอยจ้องสลับแสง  ได้มีการวางศิลาฤกษ์  เมื่อวันที่  29  กันยายน  2522  โดยมี นายอำเภอบรรณสิทธิ์  สลับแสง  (นายอำเภอเมืองในสมัยนั้น) เป็นประธานในพิธี

          ความเป็นมาของการสร้างพระธาตุแห่งนี้ จากคำบอกเล่าของ "หนานคำ" หรือ คุณจำเนียร สัตย์จริง

อดีตอาศัยอยู่บ้านห้วยส้านพลับพลา  ดอยจ้องของเราเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นเสมอ เช่นมีต้นประดู่ใหญ่  ขนาด 3 คนโอบ แผ่กิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มสวยงาม พอถึงวันพระข้างขึ้น ก็จะปรากฏดวงแก้วดวงใหญ่ลอยเหนือต้นประดู่เปล่งแสงรัศมีเป็นร่มกว้างออกไปตามพุ่มของต้นประดู่ พอถึงวันพระ ข้างแรม 15 ค่ำ ดวงแก้วก็จะเปล่งแสงรัศมีเหนือต้นประดู่เปลี่ยนสีเป็นอีกสีหนึ่ง ด้วยเหตุที่ ต้นประดู่แผ่กิ่งก้านสาขาคล้ายกับ "ร่ม" ที่กางออก ชาวบ้านจึงเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยจ้อง" (คำว่า จ้อง ในภาษา เหนือ คือ "ร่ม)

          ครั้งหนึ่ง ได้มีหญิงชาวบ้านห้วยส้าน  ได้ขึ้นไปขุดหาหน่อไม้บนดอยจ้องแห่งนี้ ขณะที่กำลังขุดหาหน่อไม้อยู่นั้น ก็เห็นพระพุทธรูปองค์ขนาดคนนอน ปรากฏให้เห็นตรงหน้าที่กอไผ่ ด้วยความตกใจ  หญิงคนนั้น จึงรีบวิ่งลงจากดอย ไปบอกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงพากัน มาดูจุดที่เธอพบพระนอน แต่พอชาวบ้านไปถึง ก็ไม่พบพระนอน ตามที่หญิงคนนั้นบอก ชาวบ้านบางคนก็ว่าเธอกุเรื่องหลอกชาวบ้าน แต่ก็มีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่เชื่อเธอ  ในสมัย หนานคำเป็นเด็ก หนานคำก็เคยเห็นดวงแก้วลอยขึ้นจากดอยแห่งนี้ และมีดวงแก้วดวงเล็ก ๆ หลายดวงลอยตามกันไป ทางพระธาตุดอยเขาควาย บางทีก็ลอยไปทางพระธาตุจอมหมอกแก้ว (พระธาตุ 1 ใน พระธาตุ 9 จอม ของเชียงราย) บางทีดวงแก้ว ก็จะลอยไปทาง ดอยช้าง (พุทธสถานดอยช้าง มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 9 บ่อ สำหรับงานในพระราชพิธี)

           สถานที่ดวงแก้วลอยไป  ทั้ง 4 แห่ง  เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่อัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งทางที่ผ่านดอยจ้องแห่งนี้เวลามีคนขี่ล้อเกวียนผ่านไปจะมีเสียงดังเหมือนกับว่าข้างล่างดอยเป็นโพรง  ด้วยความเชื่อที่ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สมควรที่จะสร้างพระธาตุฯ จึงได้ปรึกษากับชาวบ้านและท่านนายอำเภอบรรณสิทธิ์  ประกอบกับท่านนายอำเภอเป็นคนชอบธรรมะ  และการทำนุบำรุงศาสนา ชาวบ้านจึงได้เชิญท่านมาเป็นประธานและวางศิลาฤกษ์ในการสร้างพระธาตุดอยจ้อง คงเป็นด้วยความศักดิ์สิทธิ์      ของเทพยดาอารักษ์ผู้รักษาสถานที่แห่งนี้ ดลบันดาลให้ท่านนายอำเภอบรรณสิทธิ์ สลับแสง  ได้พระบรมธาตุมา เพราะท่านได้ไปพบท่านเจ้าอธิการบุญยวง เจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่น  (ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย)  ซึ่งเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตเชียงราย  ท่านได้มอบผอบพระธาตุมาจากเจดีย์หัก ในเขตอำเภอเทิงมาให้ดู  ท่านเองก็ใคร่จะพิสูจน์ว่าในผอบเป็นอะไร ก็เห็นเป็นทราย  จึงได้นำให้สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร พิสูจน์ดู  ก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็น พระบรมสารีริกธาตุ จริง ๆ  และท่านก็ได้ประทานคืนมา เมื่อท่านเจ้าอธิการบุญยวง เห็นว่านายอำเภอบรรณสิทธิ์  กำลังก่อสร้างพระธาตุดอยจ้อง จึงได้มอบผอบที่บรรจุพระบรม สารีริกธาตุให้  เพื่อนำไปบรรจุยังเจดีย์ที่กำลังก่อสร้าง  หลังจากที่นายอำเภอได้พระธาตุมาแล้ว  ก็เป็นที่อัศจรรย์เมื่อมีคนอื่น ๆ รู้ต่างก็นำพระธาตุมาเทียบกันดู เมื่อเห็นว่าเป็นพระธาตุ ที่มีลักษณะเหมือนกัน เขาก็มอบให้เพื่อนำขึ้นไปบรรจุในเจดีย์ใหม่  ท่านนายอำเภอจึงขอความร่วมมือจากหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย  ไปจ้างช่างแกะสลักผอบไม้สักขึ้นมาเพื่อบรรจุพระธาตุ  แล้วให้นายช่างเทศบาลเมืองเชียงราย  เป็นผู้ออกแบพระเจดีย์  ทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดจะทำก็ สำเร็จไปด้วยดีอย่างเหลือเชื่อ  โดยที่ไม่ติดขัดหรือมีอุปสรรคใดๆ เลย

          ครั้งเมื่อ  ท่านนายอำเภอนำพระบรมสารีริกธาตุมาแห่พร้อมกับผ้ากฐิน  ซึ่งได้นำมาทอดถวาย      ณ วัดห้วยส้าน พลับพลา เพื่อนำรายได้มาสร้างเจดีย์ ก็เกิดฝนตกลงในบริเวณวัดห้วยส้านพลับพลา และตกขณะที่กำลังแห่พระธาตุ และผ้ากฐิน แต่เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่งเพราะฝนตกเฉพาะบริเวณวัดเท่านั้น ที่อื่นไม่มีฝนตก

ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจอีก คือเมื่อท่านนายอำเภอได้ถวายผ้ากฐินแล้ว และได้มอบพระธาตุให้หนานคำ (ขณะนั้นบวชเป็นพระ) เป็นผู้เก็บรักษาพระธาตุ ตอนนั้นบนดอยจ้องยังไม่มีเสนาสนะที่อาศัยของพระ  ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างลอมฟาง  ให้เป็นที่อยู่ของพระ  พระองค์ไหนจะขึ้นมาปฏิบัติธรรมก็ให้อาศัยอยู่ในลอมฟางหรือไม่ก็ปักกรด ด้วยกลัวว่าพระธาตุจะหาย จึงได้เก็บไว้ในย่ามติดตัวตลอดเวลา พอเวลาทำวัตรเย็น ก็จะนำเอาพระธาตุ ออกมาไหว้สักการะ มีวันหนึ่งท่านนำพระธาตุออกมาแล้วลืมเก็บไว้เหมือนเดิม และได้มี ตุ๊ลุงมา (เจ้าอธิการบุญมา เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน)  ซึ่งเป็นเจ้าคณะตำบลแม่กรณ์ ได้ขึ้นมาเยี่ยมและได้ชวนไปเยี่ยมพระภิกษุบนดอยวัดห้วยชมพู (ห่างไปประมาณ 5 กม.) เมื่อไปถึงวัดห้วยชมภูแล้ว จึงมองลงมายังดอยจ้องซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะวัดห้วยชมภูอยู่สูงกว่า ก็ได้เห็นไฟป่ากำลังไหม้ลุกลามจากเชิงดอยขึ้นไปหาลอมฟาง  ซึ่งสร้างไว้เป็นที่พักของพระ 4 - 5 หลัง และห่างจากลอมฟางที่ได้เก็บพระธาตุไว้ประมาณ  3  ศอกพอเห็นอย่างนั้นก็นึกขึ้นได้ว่าลืมเก็บพระธาตุ จึงได้รีบลงจากดอยชมภูมาที่ดอยจ้อง พอมาถึงดอยจ้องก็ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะว่าลอมฟางอื่น ๆที่สร้างติดกันถูกไฟไหม้หมด เหลือแต่ลอมฟางที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้นที่ไม่ถูกไฟไหม้  มีแต่ฟางเหลืองเกรียมและต้นไม้ใบหญ้าที่อยู่รอบๆ เท่านั้นที่ถูกไฟไหม้ 

          อีกเหตุการณ์หนึ่ง ขณะที่กำลังก่อสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบพระเจดีย์อยู่นั้น ชาวบ้านได้ถามว่า "ท่านทำไมจุดไฟทิ้งไว้ทั้งคืน  ท่านก็บอกชาวบ้านว่า "อาตมาไม่เคยจุดไฟทิ้งไว้ และจุดเทียนก็เพียงครู่เดียวก็ดับ" ชาวบ้านบอกว่า "เมื่อคืนนี้พวกเรากำลังนวดข้าวกันอยู่มองขึ้นไปบนดอยจ้องเห็นไฟสว่างรอบพระธาตุสว่างทั้งคืน ก็นึกว่าท่านได้จุดตะเกียงบูชาพระธาตุ " นี่ก็แปลกที่ชาวบ้านเห็นไฟสว่างรอบพระธาตุ แต่ท่านอยู่ใกล้แต่ไม่เห็น  ต่อมา

          ท่านนายอำเภอบรรณสิทธิ์  ก็ย้ายเข้ากรมการปกครอง  แต่ก่อนไปก็อธิษฐานว่า  "หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง  เมื่อข้าพเจ้าย้ายออกไปแล้วก็ขอให้มีโอกาสกลับมาเชียงรายอีก"  เป็นไปตามคำอธิษฐาน ไม่นานท่านก็ย้ายกลับมาเป็นผู้ว่าราชการเชียงรายอีก  โดยที่ท่านไม่ได้เป็นรองผู้ว่าราชการจากที่ใด นับว่าเป็นบุญกุศลที่ท่านได้ทำไว้ ทำให้สำเร็จดัง            สมประสงค์  ปี พ.ศ.2525  สมเด็จพระอริยวงสาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน)วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  กรุงเทพมหานคร  ได้ประทานพระพุทธรูปให้เป็นพระประธานที่นี่ในวันที่ 4 มีนาคม  2525  พร้อมมีลายพระถัตย์จารึกบนแผ่นทองเหลืองด้วยอักษรสีแดง ความว่า  "ขอบารมีแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และเทวานุภาพโปรดประทานความคุ้มครองรักษาพระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย  เพื่อประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ณ  วัดพระธาตุดอยจ้องสลับแสง  บ้านห้วยส้านพลับพลา  ตำบลแม่กรณ์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย"  ซึ่งได้ถวายมงคลนามว่า  พระพุทธพัฒน์ ภูฉัตโตภาสชนาภิบาลมุนินทร์  ใจความว่า  "พระพุทธผู้จอมปราชญ์ ทรงคุ้มครองรักษาประชาชนชาววัดพระธาตุดอยจ้องสลับแสง ให้อยู่เย็นเป็นสุขจงสถิตสถาพร เป็นมิ่งขวัญอบอุ่นใจ บันดาลความปรารถนาโดยธรรม ให้สำเร็จสมประสงค์ ปัดเป่าภัยพิบัติ  อุปัทวันตรายให้สูญหายแก่ประชาชนผู้เลื่อมใส ถวายสักการบูชาทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ"

          มีหลายท่านได้สอบถามว่าทำ  ดอยจ้อง  จึงมีคำว่า  สลับแสง ต่อท้ายทั้งๆ ที่สมัยก่อนเรียกกัน    ดอยจ้อง  มูลเหตุเกิดมาจาก  เมื่อสร้างพระธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็มาช่วยกันคิดชื่อกัน             ให้เหมาะสมกับการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเจ้าอธิการ สมบูรณ์ ถิรจิตโต อดีตเจ้าอาวาสวัดปางริมกรณ์และเป็นอดีตเจ้าคณะตำบลแม่กรณ์  ท่านได้ออกความเห็นว่า "พระธาตุแห่งนี้มักมีแก้วส่องแสงขึ้นในวันพระ  ข้างขึ้นบ้าง  ข้างแรมบ้าง  ซึ่งมีสีแสงที่แตกต่างกัน  มีความหมายว่า  สลับแสงออกมาตามข้างขึ้น และข้างแรมอีกประการหนึ่ง  นายอำเภอบรรณสิทธิ์  ที่เป็นประธานสร้างพระธาตุนี้ก็มีนามสกุล  สลับแสง  จึงสมควรตั้งชื่อว่า พระธาตุดอยจ้องสลับแสง

 

วัดเวฬุวัน หมู่ 1 ต.โป่งแพร่
วัดเวฬุวัน หมู่ 1 ต.โป่งแพร่

วัดเวฬุวัน หมู่ 1 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

          วัดเวฬุวัน(ป่าซาง) ตั้งอยู่เลขที่ 87 บ้านป่าซาง หมู่ที่ 1 ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย  วัดเวฬุวันเดิมที่เป็นป่าไม้ไผ่ป่าซางมีเนื้อที่ ทั้งหมด 5 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา เมื่อปี  พ.ศ 2488 ได้มี   พระครูสิริบุญญาคม (บุญมา มุนิจนโท)  ได้ร่วมกับศรัทธาประชาชน จำนวน 50 ครัวเรือน ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา   โดยมีคณะกรรมการวัดในสมัยนั้นจำนวน 7 คน เป็นหลักในการก่อตั้งวัดและเป็นผู้อุปถัมภ์คือ
          1 นายวัง ธรรมขันธ์
          2. นายวงค์  ธรรมขันธ์
          3. นายขันธ์  ปัญญาทิพย์
          4. นายปั๋น  สารทูล
          5. นายตัน  ท้าววินาทร
          6.นายก้อน  ทิพย์สุภา
          7. นายโป๊  ธรรมขันธ์
          และต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่  8  กันยายน  พ.ศ.2531  ปัจจุบันมีพระครู  สถิตธรรมธัธ อุทัยวุฒิ ถิระธมโม  เป็นเจ้าอาวาสและดำรง ตำแหน่ง เจ้าคณะตำบลโป่งแพร่ ปัจจุบันมีศรัทธาอุปถัมภ์ 220 ครัวเรือน จัดเวฬุวันเป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนในเขตตำบลโป่งแพร่ และศรัทธาประชาชนทั่วไป
 
ลำดับเจ้าอาวาส
          1. พระครูสิริ บุญญาคม พ.ศ 2490- 2530
          2. พระครูสถิตธรรมธัช พ.ศ.2533 – ปัจจุบัน

 

วัดโป่งแพร่ หมู่ 3 ต.โป่งแพร่
วัดโป่งแพร่ หมู่ 3 ต.โป่งแพร่

วัดโป่งแพร่ หมู่ 3 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

          วัดโป่งแพร่  เดิมตั้งอยู่ที่ ริมแม่น้ำมอญ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2420 มีราษฎรได้ย้ายมาจากเมืองแพร่หรือจังหวัดแร่นำโดยนายขุนวงค์ (เจ้าพญาวงค์) , นายยอด , นายบุญ , นายสา  และพวกอีกหลายคนมาตั้งบ้านอยู่   ณ  บ้านโป่งแพร่เหนือ  ต่อมาได้เป็นหมู่บ้านหมู่ที่  1  ตำบลโป่งแพร่  หรือแคว้นโป่งแพร่  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  โดยมีเจ้าอาวาส  ดังนี้  1. ครูบาสุนันต๊ะ , 2. ครูบาศรี , 3.ครูบาคำมาหรือบุญมา ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะตำบลโป่งแพร่ (เดิม) และครูบาสม มิภูโต เป็นเจ้าอาวาสมาจนถึงปี พ.ศ.2523  ตอนที่ครูบาสมเป็นเจ้าอาวาสมี    พระครูบาถา  ถาวโร ประจำวัดท่าไคร้ บ้านแม่ลาด ตำบลแม่กรณ์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  จนได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสิริบุญญาคมเจ้าคณะตำบลโป่งแพร่ (ใหม่)  หลังจากพ.ศ.2523 มีเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาสอีหลายรูป เช่นพระอินทร์เถาร์,พระจันทร์แก้ว,พระปลื้ม,พระอินจันทร์,พระนวล,พระอุ่นเรือน,พระแก้ว,พระอนงค์,พระณรงค์ฤทธิ์,พระเสริมและพระสมุหวิภูมิ วรชิกโก รูปปัจจุบัน 

ย้อนไปถึงสถานที่ของวัดโป่งแพร่เดิม อยู่ริมน้ำแม่มอญ เนื่องจากคนมากขึ้น จึงได้ย้ายจากที่เดิมมายังสถานที่ปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ.2470 มีเนื้อที่ ประมาณ 10 ไร่ ที่ตั้งหมู่  3 บ้านโป่งแพร่ ตำบลโป่งแพร่  อำเภอแม่ลาว  จังหวัดเชียงราย

หมายเหตุ : เพื่อความเข้าใจคำว่า ต.โป่งแพร่ หมู่ที่ 1 เดิมนั้นอยู่ในสมัยปีพ.ศ. 2420 – 2470 ขึ้นกับ  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  ต่อมาทางราชการได้ยุบตำบลโป่งแพร่เดิมไปขึ้นกับตำบลแม่กรณ์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  จนถึงปีพ.ศ. 2532  จึงได้มีการตั้งตำบลโป่งแพร่ ให้ขึ้นตรงกับอำเภอแม่ลาว  จังหวัดเชียงราย  จนถึงปัจจุบัน

 

วัดแม่ลาววราราม หมู่ 4 ต.โป่งแพร่
วัดแม่ลาววราราม หมู่ 4 ต.โป่งแพร่

วัดแม่ลาววราราม หมู่ 4 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

          “ตำนานหม้อ สองใบ”  ดินแดนแห่งความเป็นมาของอำเภอเมือง(อำเภอแม่ลาว) ปัจจุบันเดิมหลายชั่วอายุคน  มาแล้วตำนานกล่าวไว้ว่า  ดินแดนแห่งนี้เคยมีพันธ์ไม้นานนาพันธ์ เป็นป่าทึบมาก  ทิศตะวันออกมี  ต้นไม้เปาเป็นสัญญาลักษณ์  ทิศตะวันตกมีต้นไม้กางเป็นสัญญาลักษณ์ระหว่างต้นไม้ต้นนี้ถ้ามองโดยรอบทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะเห็นเนินสูงขึ้นไปถ้ายืนตรงจุดศูนย์กลางของสถานที่แห่งนี้ว่าดอยหม้อใบที่หนึ่ง
          ถ้ามองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเห็นเป็นที่ลุ่มละลึกลงไปในดิน ดูเหมือนหม้อหงายมีน้ำออกบ่อหรือมีน้ำขังอยู่ตลอดปี จึงเรียกสถานที่นี้ว่าหนองหม้อใบที่สอง บริเวณระหว่างดอยหม้อกับหนองหม้อสมัยก่อนเคยมีแสงปรากฎเป็นสีเขียวอ่อนพลุขึ้นสู่ท้องฟ้าบ่อยครั้ง แต่ละครั้งจะตรงกับวันโกณ วันพระเป็นข้างแรมเดือนมืดหรือเดือนดับจะเห็นชัดเจนมาก แสงที่ปรากฎการณ์จะสว่างจนทำให้ผู้คนพบเห็นมองเห็นต้นผึ้งหัวช้างและต้นอื่นๆเป็นจำนวนมากสำหรับต้นผึ้งตั้งหม้อคงเป็นคู่กับดอยหม้อและหนองหม้อไปตามทิศต่างๆ คนสมัยก่อนเรียกต้นไม้แปดทิศ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว)พ.ศ. 2509ป่าไม่ถูกทำลายไปอย่างน่าใจหายต้นไม้ถูกเผาทำลายไปทีละต้นพ.ศ. 2513ต้นผึ้งใบเหลืองถูกทำลายจนหมด
          ต่อมาคงเหลือแต่ต้นไม้เปาใหญ่เพียงต้นเดียวเท่านั้นที่เป็นสัญญาลักษณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของดอยหม้อ แต่ที่ทราบมาว่าต้นไม้เปาต้นนี้แปลกประหลาดมากตั้งแต่ไรมา ไม่ใหญ่ไม่สูง เห็นทีไรก่อเท่าเดิมจนถึงปี พ.ศ. 2477 เดือน 8 เหนือขึ้น 3 ค่ำ
          ท่านเจ้าอินหวันได้ลงมาจากสระละดอยช้างมานั่งภาวนาบนเนินดอยหม้อ  ก็รู้ว่าดินแดนที่สงบ  สมควรที่จะบำเพ็ญและปฏิบัติธรรม  จึงทำการพัฒนาและสร้างอารามที่พักขึ้นและตั้งชื่อว่า  ดอยหม้อ
          พ.ศ. 2545 – 2546  ในขณะที่พัฒนาอยู่ในช่วง 2 ปีนั้น มีทานบดีผู้มีบุญ 2 สามีภรรยา เห็นทาง   คณะสงฆ์และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันปฎิบัติธรรมจริง จึงทำการก่อสร้างกุฎิแบบทรงล้านนาจำนวน  10  หลัง  และยังสร้างศาลาปฎิบัติธรรม (บวรรัตนรังสี) ขึ้นอีก  1  หลัง ซึ่งออกแบบทรงล้านนาที่เอาแบบมาจากดินแดนพม่า คือ ทรงสิบสองปันนา และยังสร้างบันไดนาคแบบโบราณอีก 2 ตัว และยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค แต่ยังถือว่าขาดแคลนอยู่อย่างมาก ทั้งศาสนสถานที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะการที่จะสร้างเริ่มจากศูนย์ไปจนเสร็จสิ้นในเวลา 1- 2 ปีนั้นทำไม่ได้ ต้องอาศัยทั้งกำลังกายกำลังทรัพย์อีกมากมาย
          พ.ศ.2547 ได้ทำการก่อสร้าง “หอระฆัง” ขึ้น ซึ่งทางวัดถือว่าเป็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเพราะการที่พระตีระฆังนั่นถือว่าเป็นการให้สัญญาณกาลเวลาของวันใหม่ในการตีระฆังของพระนั้นจะตีอยู่สองเวลา
          เดิมท่านเจ้าอินหวัน หรือพ่อขาวอินหวัน ปมปาสาร เกิดวันที่ 2 ตุลาคม  พ.ศ.2434 เกิดที่บ้านต้นม่วงเลขที่ 9 หมู่ที่ 21 ตำบลบัวสลี (เดิม)  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย พ.ศ.2477 ลงมาพัฒนาอยู่ที่วัดดอยหม้อ     และได้สร้างกุฏิ  วิหาร ศาลาพ่อขาวแม่ขาว และผู้ปฎิบัติธรรมจำนวน 16 หลัง บางหลังทำด้วยหญ้าคาและอื่นๆเป็นบางส่วน
          พ.ศ.2513 วันที่  16  มกราคม  พ.ศ.2513  ได้มรณภาพหรือเสียชีวิตลงในอายุ 79 ปีและได้ทำการประชุมเพลิง วันที่ 14 เดือน มีนาคม พ.ศ.2513
          ในระยะหลังๆมีชาวบ้านบอกเล่าว่ามีพ่อขาวแม่ขาวที่เป็นลูกศิษย์อาศัยอยู่ระยะหนึ่งก็พากันไปอาศัยอยู่ในที่อื่น ก็เลยทำให้สถานที่ดอยหม้อขาดพ่อขาวแม่ขาวลงจนทำให้สถานที่ว่างเปล่าลง แต่ละปีมีภิกษุสงฆ์มาพำนักอยู่เป็นครั้งคราวต่อมา พ.ศ.2544 ได้มีการจัดเข้ากรรมรุกมูลมีพระฎีกาบรรเลง(ฐิติพล)  จันต๊ะปัญญา  เลขาเจ้าคณะอำเภอแม่ลาว ได้จำพรรษาอยู่และยังจัดการเข้ากรรมแต่ละครั้งเป็นการเข้าค่ายอบรมของภิกษุ – สามเณรโรงเรียนบุญเรือง รุ่นที่ 3/ 2544 ก่อนที่จะจบหลักสูตรอีกด้วย

 

ภูชมดาว หมู่ 5 ต.โป่งแพร่
ภูชมดาว หมู่ 5 ต.โป่งแพร่

ภูชมดาว หมู่ 5 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

ภูชมดาว หมู่ 5 ต.โป่งแพร่

 

น้ำตกตาดเหมย หมู่ 7 ต.โป่งแพร่
น้ำตกตาดเหมย หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

น้ำตกตาดเหมย หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

น้ำตกตาดเหมย หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

 

วัดดอยชมภู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่
วัดดอยชมภู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

วัดดอยชมภู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

         วัดดอยชมภู  ตั้งอยู่เลขที่ 61 หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งแพร่  อำเภอแม่ลาว  จังหวัดเชียงราย  เดิมชื่อว่า วัดห้วยจุมปู ต่อมาสมัยเจ้าอาวาส องค์ที่ 9 (พระณรงค์ฤทธิ์  ฐิตธฺมโม ) ได้เปลี่ยนชื่อจากวัดห้วยจุมปู เป็นวัดดอยชมพู เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกายหนเหนือ ภาคเหนือ ภาค 6  ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2472 โดยมีประชากรในสมัยนั้น จำนวน 17 หลังคาเรือน ซึ่งมีครูบาคำมา มาจากวัดโป่งแพร่พร้อมด้วยนายคำนึง วงค์ลั๊วะ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและสมัยนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่บ้านห้วยส้านพลับพลา  คือผู้ใหญ่ปัน มูลสถาน และกำนันตุ่น ปัจจุบันมีอายุ 80  กว่าปี แล้ว

 

ลำดับเจ้าอาวาส

1.  พระครูบาคำมา                2.  ครูบาปุธิ                        3.  พระโมก                        

4.  พระซาว                         5.  พระจา                          6.  พระจุ่ม

7.  พระเติง                          8.  พระจม                          9.  พระปั้น                         

10. พระจม                         11. พระเฮือน                       12. พระเมือง

13. พระก๋องคำ                    14. พระพิชัย                       15. พระต๋า                        

16. พระคำจา                      17. พระไช                          18. พระดวง

19. พระณรงค์ฤทธิ์  ฐิตธฺมโม   20. พระสมเดช  สุทธิปภาโส   21. พระศรีทอง  สุนฺทรธมฺโม      

22. พระประทิน  กตปุญโญ     23. พระโชคชัย  พุทฺธญาโณ  พ.ศ. 2548 – ปัจจุบัน

 

ศูนย์ถ่ายทอดวัฒนธรรมชนเผ่าบีซู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่
ศูนย์ถ่ายทอดวัฒนธรรมชนเผ่าบีซู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

ศูนย์ถ่ายทอดวัฒนธรรมชนเผ่าบีซู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่

สถานที่ท่องเที่ยว

ประวัติชนเผ่าบีซู

          จากการค้นคว้าวาของดร.เจมส์ มาติซอฟ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน พบว่า คำว่า" บีซู" หมายถึงมนุษย์แท้ๆ ซึ่งคำว่าบีซู เป็นคำโบราณ ที่มีอายุถึง 3,000 พันกว่าปีมาแล้วปีมาแล้ว

จากหลักฐานที่ได้จากพงศาวดารจีน ปี พ.ศ.2344 พอจะบอกได้ว่าบีซู มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ประเทศจีนตอนใต้ คือแถวสิบสองปันนาเพราะ พงศาวดารของจีนได้เขียนไว้ว่าไต้มีชาวลาหู่ 2 คน ชื่อว่า Li Wenming และLi Xiaolao กับชาวบีซู ได้ร่วมมือกันต่อต้านผู้ว่าราชการและจักรพรรดิจีน ที่มีชื่อว่า Jia Qing ที่มีความโหดร้ายมาก แต่เกิดพ่ายแพ้จึงหนีเข้ามาในประเทศไทย ในปีค.ศ. 1801 (พ.ศ. 2344) ซึ่งเป็นสาเหตุของการพลัดกลาก กันของชนเผ่าบีซูนับตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา คนภายนอกได้เริ่มรู้จักบีซู เมื่ออาจารย์ทัสสุโอ  เนชีด้า ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ได้พานักศึกษามาสำรวจภาษาต่างๆในภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อปี2510 อาจารย์และคณะได้มีโอกาสพบคนเมืองและได้รับคำแนะนำว่า ในหมู่บ้านดอยชมภู มีคนพูดภาษาละว้า แต่เมื่อไปพบจริงๆปรากฏว่าไม่ใช่ภาษาบีซู ลงในวาระสารของมหาวิทยาลัยที่อาจารย์สอนอยู่ หลังจากนั้นได้มีนักภาษาศาสตร์ อีก 3 ท่าน คืออาจารย์เอม คัดสุระ เดวิด แบรดรี่ และ แพ็ตทริค เบดวอร์ ได้มาศึกษาบีซูด้วย

ในปี2534 มีอาจารย์ชาวจีน ชื่อ ลี หงสุ่ย ได้ พบกลุ่มคนบีซูที่ สิบสองปันนา มีประมาณ 6,000 คนเราจึงมีความแน่ใจว่าได้มี คนบีซูอยู่ที่ประเทศจีนจริงๆ หลังจากนั้นได้มีลูกศิษย์ ของอาจารย์ลี หงสุ่ย ซื่อ ฉูฉีหวน ได้เข้าไปศึกษาภาษาบีซูที่สิบสองปันนาและไดเขียนไวยากรณ์ ของภาษาบีซูขึ้นโดยเขียนเป็นทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษด้วยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดร.เคริ์ก เพอร์ซันได้เข้ามาศึกษาและวิจัยภาษาบีซู โดยได้จัดให้มีการอบรมเรียนรู้อ่านเขียนภาษาบีซูเพื่อการอนุรักษ์สืบต่อไป

ถิ่นฐานของชนเผ่าบีซูที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจังหวัดเชียงรายมีด้วยกัน 3 หมู่บ้านดังนี้

          - บ้านปุยคำ ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย

          - บ้านดอยชมภู อำเภอแม่ลาว  จังหวัดเชียงราย

          - บ้านผาแดง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย 

ศิลปะการแสดงเต้นรำชนเผ่าบีซู

          บีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่หนาแน่นที่บ้านดอยชมภู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอ แม่ลาว  จังหวัดเชียงราย  ประมาณ  200  คน  คนทั่วไปที่ไม่ทราบเกี่ยวกับชนเผ่าบีซู  มักเรียกบีซูว่าลั๊วะหรือละว้า แต่จริง ๆ แล้วชนเผ่าลั๊วะ เป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ชนเผ่าบีซู  ชนเผ่าบีซูมีศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเรียกว่า  การเต้นรำชนเผ่าบีซู  ซึ่งเป็นการเต้นรำที่สืบทอดจากคนรุ่นหลังจนถึงปัจจุบัน  เป็นการเต้นรำที่สนุกสนานสื่อให้เห็นถึงความรัก  ความสามัคคี  ความผูกพัน  และความภาคภูมิใจของคนในชุมชน

อาหารชนเผ่าบีซู

          “ลาบพริก” เป็นชื่ออาหารชาติพันธุ์ของชนเผ่าบีซู มีลักษณะคล้ายน้ำพริกหนุ่มแต่มีรสชาติเผ็ด ซึ่งลาบพริกเป็นภูมิปัญญาที่ชนเผ่าบีซูได้คิดค้นขึ้นจากการดำรงชีวิตประจำวันต้องออกไปทำไร่ ทำสวน   จึงหาวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่อยู่ในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายมาประกอบอาหาร ซึ่งลาบพริกประกอบด้วยสมุนไพรนานาชนิดและมีวิธีทำที่ไม่เหมือนกับอาหารประเภทชนิดอื่น ๆ จึงเป็นอาหารที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงของชุมชนและเป็นเมนูอาหารที่ชาวบีซูภาคภูมิใจ

 

องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
เบอร์โทร/ แฟกซ์: 0-5377-8249
เบอร์โทร : 0-5377-8249
ที่อยู่ไปรษณีย์
222 หมู่ที่ 3 ตำบล โป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว เชียงราย 57000
ช่องทางติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์
Email : pongphrae2556@gmail.com
FB : องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย