Top

ข่าวประชาสัมพันธ์

การป้องกันและควบคุมโรคมือเท้าปาก

02 พฤษภาคม 2565
ผู้ประกาศ : สำนักปลัด
อ่าน : 625

“โรคมือ เท้า ปาก” เป็นกลุ่มอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อคอกแซกกีไวรัส (Coxsackie Virus) หรือ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โรคนี้พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก พบการระบาดทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาค โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง โรคนี้พบน้อยลงในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และน้อยมากในเด็กวัยรุ่น

สาเหตุและการแพร่ติดต่อ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีหลายชนิด การติดต่อส่วนใหญ่ เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการไอ จามรดกัน ติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก และถึงแม้ทุเลาลงแล้วก็อาจแพร่เชื้อได้ล้าง เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6-8 สัปดาห์

การป้องกันและควบคุมโรคมือ เท้า ปาก

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการขับถ่าย หลังไอ จาม และหลังสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังเช็ดตัว เป็นต้น

สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน ควรจัดให้มีอ่างล้างมือและส่งเสริมให้มีการล้างมือให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ หมั่นรักษาความสะอาดของเล่น อุปกรณ์ เครื่องใช้ สถานที่ และส้วมอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องด้วย ควรเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องในบางช่วงของวัน

หากพบเห็นเด็กป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด หรือสนามเด็กเล่น หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องพิจารณาการปิดชั้นเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยใช้น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาซักล้างทั่วไป ที่มีส่วนผสมของคลอรีน โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปากและเบื่ออาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ซึ่งบริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ จะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน เวลากดจะเจ็บ) ที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นหรือหัวเข่าได้ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน

การรักษา

โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ควรนอนพักผ่อนมาก ๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปากและรับประทานอาหารได้มากขึ้น ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนนการดูดจากขวด

ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูง ซึม ไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหาร อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมองอักเสบหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เอกสารแนบ :
      
      
      
      
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
เบอร์โทร/ แฟกซ์: 0-5377-8249
เบอร์โทร : 0-5377-8249
ที่อยู่ไปรษณีย์
222 หมู่ที่ 3 ตำบล โป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว เชียงราย 57000
ช่องทางติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์
Email : pongphrae2556@gmail.com
FB : องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย